ต้องการเปลี่ยน URL หรือโครงสร้างเว็บ หรือไม่ว่าจะเป็นย้ายโดเมน ย้ายเว็บใหม่ได้โดยไม่เสีย ranking ใน Google? หรือ traffic เดิมของเว็บก็ยังอยู่ทำอย่างไร? คำตอบคือ การทำ "301 Redirect"
301 Redirect คืออะไร สำคัญต่อ SEO อย่างไร?
บทความนี้ผมจะพาไปทำความรู้จักกับภาพรวมของการทำ 301 Redirect พร้อมแนะนำวิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ต่อ SEO และการ audit เว็บ
301 Redirect คืออะไร?
301 Redirect เป็นวิธีการเปลี่ยน URL แบบถาวร เมื่อผู้ใช้หรือ search engine bot พยายามเข้าถึง URL เก่า เว็บจะส่งพวกเขาไปยัง URL ใหม่โดยอัตโนมัติ พร้อมกับส่งสัญญาณว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร (permanent redirect) ไม่ต้องเจอกับหน้า 404 Not Found
404 Not Found
ลองคิดดูว่า ถ้า user ต้องการเสิร์ชหาข้อมูล แล้วกำลังคลิกเข้าเว็บเรา แล้วเจอกับหน้านี้ คงทำให้เกิดประสบการณ์ใช้งานที่ไม่ดีเป็นแน่
จากตัวอย่างด้านล่าง ลองสังเกต URLs ว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็น URLs ใหม่ อาจจะเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น
- URL ก่อนหน้าเราได้ออกแบบ path หรือ slug ไม่ดี
- เปลี่ยนชื่อเว็บใหม่หรือโดเมนเนมใหม่ เพราะมานึกได้ทีหลังเรื่อง branding ฯลฯ เรื่อง TLD ... บลา บลา เลยอยากเปลี่ยนโดเมนใหม่ให้เหมาะสม
- และอีกมากมายหลากหลายสาเหตุ ฯลฯ
ดังนั้นเราต้องการเปลี่ยนใหม่ ให้ดู SEO-frendly URLs ดีทั้งต่อ user และ search engine
ทำไม 301 Redirect ถึงสำคัญสำหรับ SEO?
1. รักษาอันดับใน search results เมื่อเราใช้ 301 Redirect กูเกิลจะโอนค่าพลังของ SEO จาก URL เก่าไปยัง URL ใหม่
2. ป้องกันการสูญเสีย organic traffic ผู้ใช้ที่คลิกลิงก์เก่าจะถูกนำไปยังหน้าใหม่โดยอัตโนมัติ
3. หลีกเลี่ยงปัญหา duplicate content ช่วยรวมหน้าที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน (คล้ายกับ Canonical Tag ไหม?)
4. ปรับปรุง user experience ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเจอกับหน้า 404 Not Found
เมื่อไหร่ที่ควรใช้ 301 Redirect?
1. เปลี่ยน domain name เช่น จาก http://www.oldsite.com ไปยัง http://www.newsite.com
2. ปรับโครงสร้าง URL เช่น จาก /old-category/product ไปยัง /new-category/product
3. รวมเนื้อหา เมื่อเราต้องการรวมหลายหน้าเข้าด้วยกัน
4. ย้ายเว็บไซต์ เมื่อต้องการย้ายเว็บไซต์ไปยัง platform ใหม่
จากตัวอย่างด้านล่างนี้ ก็คือตัวอย่างจริง ๆ ของการ redirect เลยครับ ไม่ใช่ใครที่ไหน ยกตัวอย่างเว็บของเราเลยนี่แหละ (เคสนี้เป็นแบบ coding นะครับ ผมได้สร้างหน้า UI ขึ้นมาเพื่อกำหนด URL เก่าและใหม่ที่ต้องการ redirect ซึ่งก็สะดวกดี ไม่ต้องคอยทำที่ web server) ถ้าสมาชิกที่ใช้ WordPress ก็จะมีปลั๊กอินอยู่ครับ ไม่ยาก ๆ
ตัวอย่างหน้า interface ของ 301 Redirect (เคสของเว็บเราเอง)
สำหรับสแกนเว็บหรือเช็ค URLs ที่เสีย รวมถึง status code ผมแนะนำ Screaming Frog นะครับ ครบเลยตัวนี้
ยกตัวอย่าง URL ด้านล่าง (ในกรณีนี้คือการทำการเปลี่ยน path แต่ยังคง domain name เดิม)
https://contentmastery.io/meta-title
ผมได้เปลี่ยนโครงสร้างของ path ใหม่ โดยผมจะใช้ /blog/ เข้ามา เพื่อบอกให้รู้ว่านี่คือส่วนของ blog นะอะไรทำนองนี้
https://
contentmastery.io/blog/meta-title
เมื่อคลิกเข้าไปดู URL ตัวแรกที่ไม่ได้มี /blog/ จะเห็นว่า จะไม่มี 404 Page Not Found แต่จะมีการ redirect ไปที่ path ใหม่
และเมื่อทำการ inspect หน้าเว็บดูแล้วกด refresh เลือกตรง network เพื่อดูการ request (ต้องมีพื้นฐานด้านเว็บนิดนึง) จะเห็นว่ามี 301 status code แบบนี้ จากภาพด้านล่าง
- 301 คือ status code ของหน้า URL เดิมที่ redirect มา
- 200 คือ status code ของหน้า URL ใหม่
301 Redirect Status Code
วิธีทำ 301 Redirect
การทำ 301 Redirect มีหลายวิธีทั้งวิธีที่ทำได้เอง (เช่น สมาชิกที่ใช้ WordPress หรือเว็บสำเร็จรูป โดยเฉพาะ WordPress นี่มีปลั๊กอินเพียบ) หรือสำหรับเพื่อน ๆ ที่จ้าง dev ทำเว็บ ก็แจ้ง web dev ได้โลด (เดี๋ยว web dev ไปหาวิธีทำเอง lol จริง ๆ เป็นเรื่องชิว ๆ ของ web dev เลยครับ)
1. ผ่าน .htaccess (สำหรับ Apache)
Apache
Redirect 301 /old-page.html https://www.example.com/new-page
2. ใน Nginx configuration
server {
...
rewrite ^/old-page.html$ https://www.example.com/new-page permanent;
...
}
3. ผ่าน WordPress plugin
หากเพื่อน ๆ ใช้ WordPress ก็สามารถใช้ plugin เช่น "Yoast Redirect Manager" เพื่อจัดการ 301 Redirect นี้ได้เลย (หรืออาจจะมีตัวอื่น ผมไม่ได้ใช้ WordPress นานแล้ว ต้องขออภัย)
Yoast Redirect Manager (Image source: Yoast)
ข้อควรระวังในการทำ 301 Redirect
1. หลีกเลี่ยง redirect chain โดยพยายามให้ redirect ตรงไปยังจุดหมายปลายทางในครั้งเดียว
2. ตรวจสอบ redirect loop ระวังไม่ให้เกิดการ redirect วนไปวนมาไม่สิ้นสุด
3. อัปเดต internal links แก้ไขลิงก์ภายในเว็บไซต์ให้ชี้ไปยัง URL ใหม่โดยตรง
4. อย่าลืมแจ้ง Google โดยใช้ Google Search Console เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลง URL (กรณีเปลี่ยนโดเมน)
5. อย่า redirect ไปหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าเดิม
โดยเฉพาะข้อ 5 นี่ หลายคนมักคิดอะไรไม่ออก บอกหน้า home ซึ่งบางทีมันไม่เกี่ยวข้องกับหน้าเดิมนะครับ ดังนั้นอย่าสแปม redirect ไปหน้า home (หรือหน้าที่ต้องการสร้างพลังลิงก์) ทั้งที่มันไม่เกี่ยวข้อง ที่แน่ ๆ คือมัน bad UX ชัวร์ user คลิกอีกอย่าง ไปเจออีกอย่าง
การวัดผลและติดตาม
การติดตามผลหลังจากทำ 301 Redirect เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราควรจะ
- ตรวจสอบ server log ดูว่ามี redirect ที่ทำงานผิดพลาดหรือไม่
- ใช้ Google Analytics ติดตาม organic traffic และพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้
- Monitor ดูว่าอันดับของ keyword หลักยังคงอยู่หรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร
- ใช้เครื่องมือ SEO เช่น Ahrefs หรือ Semrush เพื่อติดตาม backlinks และ organic rankings
กรณีศึกษา
บริษัท XYZ (ยกตัวอย่าง ผมสมมิตขึ้นมา) เป็นร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการปรับโครงสร้าง URL ของสินค้าทั้งหมด จากเดิมที่ใช้รูปแบบ /product-id เป็น /category/product-name พวกเขาใช้ 301 Redirect สำหรับทุก URL เก่า ผลลัพธ์คือ
- รักษา organic traffic ได้ 95% ในช่วงแรก
- หลังจาก 3 เดือน organic traffic เพิ่มขึ้น 20% เนื่องจาก URL ใหม่เป็นมิตรกับ SEO มากขึ้น
- Bounce rate ลดลง 15% เพราะโครงสร้าง URL ใหม่ ช่วยให้ user เข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น
สรุป
301
Redirect เป็นอีกเทคนิคสำคัญที่นักทำ SEO และ web developer ต้องเข้าใจและใช้งานเป็น การใช้
301 Redirect
อย่างถูกต้องจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยไม่ทำให้อันดับหรือ traffic เดิมของเว็บเสีย
อย่าลืมแชร์บทความนี้หากเพื่อน ๆ คิดว่าเป็นประโยชน์นะครับ