Google Analytics 4 (GA4)
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเว็บของเรามีจำนวนการดูหน้าเว็บ (Page Views) แต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน มีผู้ใช้ (users) ทั้งปัจจุบันและผู้ใช้ใหม่กี่คนที่ใช้งานเว็บเรา ผู้ใช้เปิดอ่านหรือคนเข้าเว็บเปิดดูหน้าไหนเยอะสุด ใช้เวลาแต่ละหน้าไปมากน้อยแค่ไหน เข้าผ่านอุปกรณ์ เบราว์เซอร์ หรือระบบปฏิบัติการไหนบ้าง และอย่างอื่นสารพัดที่เป็น insight ของเว็บเรา... ทุกอย่างที่กล่าวมา เราสามารถใช้เครื่องมือฟรีและดีสุด ๆ จาก Google ที่เจ้าของเว็บทุกคนต้องมี เครื่องมือที่ว่านี้ก็คือ "Google Analytics"
Google Analytics 4 (GA 4) คืออะไร?
Google Analytics 4 (GA 4) คือ เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์จาก Google ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นิยมในการดู insights ด้าน web performance มากที่สุดเครื่องมือหนึ่งในปัจจุบัน ในหมู่นักการตลาดออนไลน์ เจ้าของเว็บไซต์ คนทำ SEO ฯลฯ
ทำให้ไม่แปลกใจเลยครับว่า นี่คือหนึ่งในเครื่องมือยอดนิยมที่สุดสำหรับการวิเคราะห์เว็บไซต์ และมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับนำ insights ต่าง ๆ ที่ได้จาก GA4 ไปปรับ performance ของเว็บให้ดีต่อ User Journey มากขึ้น เพื่อให้เราได้ conversion หรือลูกค้ามากขึ้น รวมไปถึงนำไปใช้ในแคมเปญการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการยิงแอด Google, Facebook, TikTok ฯลฯ เป็นต้น
Event-based Tracking
Event-based Tracking คือแนวทางการเก็บข้อมูลใน Google Analytics 4 (GA4) ที่แตกต่างจากวิธีการติดตามแบบเดิมใน Universal Analytics ซึ่งใช้การติดตามข้อมูลแบบอิงกับเซสชัน (Session-based)
ใน GA4 ทุก event ที่ user ทำ ไม่ว่าจะเป็นการดูหน้าเว็บ การคลิก การส่งแบบฟอร์ม หรือการเล่นวิดีโอ จะถูกจัดเก็บเป็น "เหตุการณ์" หรือที่เรียกว่า Event
ใด ๆ ในโลก (ของ GA 4) คือ Event-based Tracking
การ track ในรูปแบบนี้ช่วยให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ในเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น เพราะ Event สามารถออกแบบให้ติดตามทุกการโต้ตอบ (interaction) ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
- การดูหน้าเว็บ (Page views)
- การคลิกบนปุ่ม (Clicks)
- การส่งฟอร์ม (Form submissions)
- การเล่นหรือหยุดวิดีโอ (Video plays)
หนึ่งในข้อดีของการใช้ Event-based Tracking คือความสามารถในการเก็บข้อมูลที่ละเอียดยิบและตรงตามพฤติกรรมของผู้ใช้ได้มากกว่าเดิม เราสามารถติดตามกิจกรรมในทุกแพลตฟอร์ม เช่น เว็บ แอป หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ใช้จะเปลี่ยนอุปกรณ์ระหว่างการใช้งาน
ฟีเจอร์ของ Google Analytics
- จำนวนผู้เยี่ยมชมและผู้เยี่ยมชมที่กลับมา: บอกจำนวนครั้งที่มีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ รวมถึงจำนวนครั้งที่คนเดิมกลับมาเยี่ยมชมใหม่อีกครั้ง ซึ่งช่วยให้เราทราบว่าเว็บไซต์ของเรามีความน่าสนใจและคนที่เข้าเว็บจะกลับมาเข้าเว็บอีกครั้งหรือไม่
- แหล่งที่มาของผู้เยี่ยมชม: บอกว่าคนเข้าเว็บมาจากที่ไหนบ้าง เช่น มาจากการค้นหาในเสิร์ชเอนจิน เช่น Google (Organic Search) การเปิดดูจากโฆษณา (Ads) การเชื่อมโยงจากเว็บไซต์อื่น ๆ (Referral) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจว่าแหล่งที่มาของคนเข้าเว็บมาจากช่องทางใด (ซึ่งจะต่างจาก Google Search Console ที่มาจาก Google Search เพียงอย่างเดียว)
- พฤติกรรมผู้เยี่ยมชม (User Behavior): บอกเกี่ยวกับการเข้าชมหน้าเว็บไซต์แต่ละหน้า ระยะเวลาที่อยู่ในเว็บไซต์ อัตราการส่งต่อหรือเปิดดูหน้าอื่น ๆ ในเว็บไซต์ เป็นต้น ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมและทิศทางการใช้งานของคนเข้าเว็บ
- การแสดงความสนใจในเว็บไซต์: บอกเกี่ยวกับ action ของผู้เยี่ยมชมในเว็บไซต์ เช่น การกรอกแบบฟอร์ม การกดปุ่ม การซื้อสินค้า เป็นต้น ช่วยให้เราทราบว่าคนที่เข้าเว็บกำลังทำอะไรในเว็บไซต์ของเรา
- การติดตามการเปิดดูการโฆษณา: ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการโฆษณาในเว็บไซต์ของเรา ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบว่าการโฆษณาของเรามีผลให้ผู้เยี่ยมชมกดดูหรือไม่
- การวิเคราะห์การนำทาง (Navigation): ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์การนำทางในเว็บไซต์ เช่น การคลิกลิงก์ในเมนูหรือการนำทางระหว่างหน้า ช่วยให้เราเข้าใจว่าผู้เยี่ยมชมไปที่หน้าไหนและมีเนื้อหาอะไรที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงหน้านั้น ๆ
ภาพรวมรายงานใน Google Analytics
ภาพรวมรายงานใน GA4
จากภาพตัวอย่างคือฟีเจอร์ "ภาพรวมรายงาน" ของ Google Analytics แสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเว็บไซต์ contentmastery.io ในช่วงวันที่ 14 มิ.ย. - 11 ก.ค. 2024 ดังนี้
1. ตัวชี้วัดหลัก
- ผู้ใช้: 606 คน
- ผู้ใช้ใหม่: 576 คน
- เวลาในการมีส่วนร่วมโดยเฉลี่ย: 1 นาที 3 วินาที
- รายได้ทั้งหมด: $0.00 (ยังไม่ได้เซ็ตตัว conversion tracking)
2. กราฟแนวโน้ม
แสดงจำนวนผู้ใช้รายวัน โดยมีจุดสูงสุดประมาณ 100 คนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยหลังจากนั้น
3. ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่
- ในช่วง 30 นาทีที่ผ่านมา: 1 คน
- แผนภูมิแท่งแสดงผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่แบ่งตามประเทศ โดยมีประเทศไทยเพียงประเทศเดียว
4. ผู้ใช้ใหม่มาจากที่ใดบ้าง
- แสดงแหล่งที่มาของผู้ใช้ใหม่ โดยมาจากแหล่งที่มาต่าง ๆ เช่น Organic Search หรือค้นหาใน Google (เยอะสุด) รวมไปถึงการพิมพ์ชื่อเว็บตรง ๆ อย่าง Direct ฯลฯ
5. แคมเปญยอดนิยมของคุณคืออะไรบ้าง
แสดงประสิทธิภาพของแคมเปญต่าง ๆ โดยมี Organic Search เป็นช่องทางหลักที่นำผู้ใช้มายังเว็บไซต์ ด้วยจำนวน 372 ครั้ง ตามด้วย Direct ที่ 305 ครั้ง เป็นต้น
Time on Page Report
นี่เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่สำคัญของ Google Analytics เลยครับ ทำให้เราทราบเวลาที่ผู้ใช้ ใช้ไปกับหน้าเว็บของเรา
ซึ่งฟีเจอร์ "เวลาบนหน้าเว็บ (Time on Page)" เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงถึงระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ผู้ใช้ ใช้ในการอ่านหรือมีปฏิสัมพันธ์กับหน้าเว็บแต่ละหน้าของเว็บเรา ก่อนที่จะเปลี่ยนไปยังหน้าอื่นหรือออกจากเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าเนื้อหาใดที่ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ได้มากที่สุด และหน้าไหนที่อาจต้องการการปรับปรุง
จากข้อมูลที่เห็นในภาพ เราสามารถสังเกตได้ว่าหน้าเว็บต่าง ๆ มีเวลาในการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน เช่น
- หน้าหลัก (home page) มีเวลาเฉลี่ย 51 วินาที
- ในขณะที่หน้าเกี่ยวกับการออกแบบ SEO Friendly URL มีเวลาเฉลี่ยสูงถึง 47 วินาที ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าเนื้อหาในหน้านี้มีความน่าสนใจและให้ข้อมูลที่มีคุณค่าแก่ผู้อ่าน
การวิเคราะห์ "เวลาบนหน้าเว็บ (Time-on Page)" ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น อัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) และจำนวนหน้าต่อการเข้าชม จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อปรับปรุงเนื้อหา ออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ใหม่ หรือพัฒนากลยุทธ์การตลาดดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขออธิบายเพิ่มเติมนิด โดย Engagement Rate ใน Google Analytics 4 (GA4) นับเป็นเปอร์เซ็นต์ของเซสชันที่ถือว่าเป็น "Engaged Sessions" หรือเซสชันที่มีการโต้ตอบจากผู้ใช้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- เซสชันที่ผู้ใช้เปิดอ่านตั้งแต่ 10 วินาทีขึ้นไป
- เซสชันที่มีการดำเนินการอย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์ (เช่น คลิก หรือ ดูวิดีโอ เป็นต้น)
- เซสชันที่มีการเปิด หลายหน้า (2 หน้า) หรือมากกว่าในเว็บไซต์
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องระมัดระวังในการตีความข้อมูลกันด้วยครับ เนื่องจากเวลาที่นานนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป และเวลาที่สั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแย่เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของหน้าเว็บนั้น ๆ และพฤติกรรมที่คาดหวังจากผู้ใช้
ดังนั้นการใช้ข้อมูลจาก "เวลาบนหน้าเว็บ (Time on Page)" จะช่วยในการตัดสินใจปรับปรุงเว็บไซต์และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Technical Report Overview (ภาพรวมด้านเทคนิค)
จากภาพหน้าจอของ Google Analytics 4 (GA4) หน้านี้คือ ภาพรวมด้านเทคนิค (Technical Report) ซึ่งแสดงข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์และแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานเข้าถึงเว็บไซต์ตัวอย่างในช่วงวันที่ 17 ก.ย. - 14 ต.ค. 2024
Technical Report Overview
โดยมีการแบ่งส่วนของข้อมูลหลัก ๆ ดังนี้
1. แพลตฟอร์มที่ใช้งาน: ผู้ใช้ทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ (Web) 100% ไม่มีการเข้าถึงจากแอป
2. จำนวนผู้ใช้งานในช่วง 30 นาทีล่าสุด: มีผู้ใช้งานทั้งหมด 5 คน โดยทั้งหมดเข้าผ่านเว็บ
3. ระบบปฏิบัติการที่ผู้ใช้งานใช้: ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้ Windows (9.4K) รองลงมาเป็น Android (2.4K) และ macOS (2.1K)
4. อุปกรณ์ที่ใช้เข้าเว็บไซต์: ผู้ใช้งานเว็บ/เดสก์ท็อป (12K), มือถือ (5K), แท็บเล็ต (446)
5. เบราว์เซอร์ที่ใช้เข้าเว็บไซต์: Chrome เป็นเบราว์เซอร์หลัก (10K) ตามมาด้วย Safari (3.1K) และ Edge (1K)
6. อุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้งาน: ส่วนใหญ่เข้าผ่าน Desktop (68.3%) และ Mobile (29.1%)
7. ความละเอียดหน้าจอที่ผู้ใช้ใช้งาน: ความละเอียด 1920x1080 เป็นความละเอียดที่ใช้งานมากที่สุด (ประมาณ 4K ผู้ใช้)
แต่ละส่วนของ Technical Report แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดเชิงเทคนิคของผู้เข้าชม เช่น อุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการ และเบราว์เซอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการปรับปรุงเว็บไซต์ให้รองรับผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น
Landing Page (หน้าที่เข้าครั้งแรก)
Landing Page ใน GA4 ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้ใช้เข้ามาครั้งแรกเมื่อเยี่ยมชมเว็บไซต์ Landing Page Report ใน GA4
โดยแสดงรายละเอียดดังนี้
- เซสชัน (Sessions): จำนวนการเริ่มต้นเยี่ยมชมเว็บไซต์จากหน้า Landing Page แต่ละหน้า
- ผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่ (Active Users): จำนวนผู้ใช้ที่ยังอยู่ในเว็บไซต์ระหว่างช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล
- ผู้ใช้ใหม่ (New Users): จำนวนผู้ใช้ที่เข้าชมเว็บไซต์เป็นครั้งแรก
- เวลาในการมีส่วนร่วมต่อเซสชัน: ระยะเวลาที่ผู้ใช้โต้ตอบกับเนื้อหาบนหน้าเว็บโดยเฉลี่ย
- เหตุการณ์สำคัญ (Conversions): กิจกรรมหรือการกระทำที่ถือว่าสำคัญ เช่น การกรอกฟอร์ม หรือการซื้อสินค้า
Enhanced Measurement Events
นอกจากนี้ Google Analytics 4 (GA4) ยังมี "อีเวนต์การวัดผลขั้นสูง" (enhanced measurement events) ซึ่งสามารถเปิดหรือปิดได้ในการตั้งค่าผู้ดูแลระบบ
Enhanced Measurement Events
โดย events เหล่านี้ประกอบด้วย
การดูหน้า (page_view): ส่วนนี้จะบันทึกทุกครั้งที่ผู้ใช้โหลดหรือรีโหลดหน้าเว็บ
การเลื่อนหน้า (scroll): ส่วนนี้จะ track เมื่อผู้ใช้เลื่อนลงมาถึง 90% ของหน้าเว็บ
การคลิกลิงก์ภายนอก (outbound click): บันทึกเมื่อผู้ใช้คลิกลิงก์ไปที่โดเมนหรือเว็บอื่น
การค้นหาภายในเว็บไซต์ (site search): Track การใช้งานฟังก์ชันค้นหาภายใน (Internal Site Search) บนเว็บของเรา
การมีส่วนร่วมกับวิดีโอ (video engagement): บันทึกการกระทำต่าง ๆ เกี่ยวกับวิดีโอ เช่น การเริ่มเล่น การหยุดชั่วคราว การดูจนจบ
การดาวน์โหลดไฟล์ (file download): Track เมื่อผู้ใช้ดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บไซต์ของเรา
อีเวนต์เหล่านี้ช่วยให้เราเก็บ insight เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้บนเว็บได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเพิ่มโค้ดเพิ่มเติม ซึ่งสามารถเปิดหรือปิดอีเวนต์เหล่านี้ได้ตามความต้องการในการตั้งค่า GA4 ทำให้ช่วยให้เรา custom การเก็บข้อมูลให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของเว็บไซต์เราได้
ติดตั้งยังไง?
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่มี GA4 ถือว่าอาจจะพลาดโอกาสดู insight ที่จำเป็นหลายอย่างเลยครับ ดังนั้นไปติดตั้งกันได้ครับ โดยการติดตั้งก็จะมี 2 วิธีหลัก ๆ เช่น
- ติดตั้ง GA4 โดยตรง
- ติดตั้งผ่าน Google Tag Manager (GTM)
โดยวิธีการที่ผมแนะนำคือติดตั้งผ่าน GTM เพราะมันจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นเยอะ ไม่ต้องคอยพึ่ง dev เมื่อเราต้องการ tracking events ต่าง ๆ ในเว็บที่เราต้องการ (เดี๋ยวจะเขียนบทความแยก)
ติดตั้ง GTM บนเว็บครั้งเดียวจบ
แล้วค่อยนำ GA4 ไปยัดลงใน GTM อยาก track อะไร ก็ไป set ใน GTM เอา เป็นวิธีที่สะดวกและยืดหยุ่นที่สุดในปัจจุบัน
นี่ก็เป็นแค่ภาพรวมแค่บางส่วนของ Google Analytics ยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่แจ่ม ๆ และน่าสนใจ แต่ผมก็คิดว่าน่าจะทำให้เพื่อน ๆ มองภาพรวมและประโยชน์ของการใช้ GA4 ออก และนำไปประยุกต์ใช้งานได้นะครับ