เจาะลึกการปรับ On-Page SEO พร้อม 10 checklists สำคัญที่สุด
Son contentmastery.io
Updated: Oct. 8, 2024On-Page เป็นสิ่งที่ควรทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้โดยตรง หรือเป็นปัจจัยภายในนั่นเอง บทเรียนนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่า On-Page SEO คืออะไร มีวิธีไหนบ้างในการปรับ On Page เพื่อให้หน้าเว็บของเราไปติดอยู่ในหน้าแรก Google
On-Page SEO คืออะไร ?
On-Page SEO คือการปรับแต่งหน้าเว็บของเราให้ optimize หรือดีต่อ Google Search เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้โดยตรง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับการเขียนและปรับคอนเทนต์บนหน้าเว็บไซต์ การเขียนและปรับ Meta Tags ต่าง ๆ เช่น Meta Title, Meta Description รวมไปถึงการดีไซน์ URLs และการจัดวาง Headings และ Keywords ต่าง ๆ ภายในหน้าเว็บเพจ
ด้านล่างคือเช็คลิสต์การทำ On-Page SEO มาให้ครบ จบในบทความเดียวครับ อ่านจบเชื่อว่าเพื่อน ๆ จะสามารถนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับการทำ SEO เพื่อโอกาสในการติดหน้าแรก Google หรืออันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
1. URL Slug มีคีย์เวิร์ดและสั้น กระชับ
วิธีการนี้เราจะเรียกว่าการ optimize URL ก็ว่าได้ ควรมีคีย์เวิร์ดอยู่ใน URL เช่น mybookshop.com/second-hand-book นี่คือตัวอย่างคีย์เวิร์ดเป็นต้น ซึ่งบ่งบอกว่าหน้าเว็บเพจนี้เกี่ยวกับ "หนังสือมือสอง" แบบเต็ม ๆ และที่สำคัญ URL ของเรานั้นควรกระชับและสื่อความหมาย ยิ่งถ้าเป็นไปได้ ควรให้ keyword ที่สำคัญสุดอยู่ด้านหน้าสุด
บทความแนะนำ: การออกแบบ URL ที่ดีที่สุดสำหรับ SEO
ตัวอย่าง URL slug ที่มีคีย์เวิร์ด
2. Meta Title (headline) พาดหัวต้องโดดเด่น
Meta Title หรือ Title Tag พาดหัวบทความต้องน่าสนใจและดึงดูดคนอ่าน เพราะว่าส่วนนี้คือส่วนที่ปรากฏได้เด่นชัดที่สุดบนหน้า SERP หรือ Google Search และแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการคลิก (CTR: Click Through Rate) ให้คนคลิกเปิดมาอ่านบทความของเราเมื่อเจอในหน้า Google Search
ตัวอย่าง Meta Title
แต่พาดหัวก็ไม่ควรเป็น clickbait ด้วยเช่นกันเพราะถ้าคนเปิดเข้ามาอ่านแล้วไม่เจอกับประสงค์ของการค้นหา (search intent) ของผู้อ่านแล้ว ก็จะทำให้เขาเหล่านั้นกดออกจากเว็บไซต์เราในทันที ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Brounce Rate สูง เป็นการส่งสัญญาณให้ Google ทราบว่าบทความของเราไม่ตอบโจทย์ นำมาซึ่งประสบการณ์ใช้งานที่ไม่ดีต่อผู้ใช้ ท้ายสุดแล้วผู้ใช้อาจจะเกิดภาพจำที่ไม่ดีต่อเว็บไซต์ จนอาจลามไปถึงแบรนด์ของเราก็เป็นไปได้ แทนที่จะได้ผลดีต่อการทำ On-Page SEO แต่กลับกลายเป็นผลเสียซะงั้น
3. Meta Description ปัจจัยเสริมช่วยหนุน CTR
Meta Description เป็นส่วนที่แสดงผลด้านล่าง Meta Title ในหน้า Google Search โดยผมแนะนำว่าควรเป็นการเขียนอธิบายด้วยย่อหน้าสั้น ๆ เพื่อขยายความ Title ที่เราได้เขียนไปก่อนหน้า
ให้มองว่าเป็นการสรุปเนื้อหาภาพรวมบทความของเรา ควรเขียนอธิบายให้น่าสนใจ กระชับ เป็นไปได้ควรมีจำนวนไม่เกินกว่า 160 ตัวอักษร (คือไม่ควรเยอะเกินไปกว่านี้) และแม้ว่า Meta Description จะไม่ส่งผลต่อ SEO โดยตรง แต่ส่งผลต่อ CTR ดังนั้นส่วนนี้ก็สำคัญไม่น้อยต่อการทำ On-Page SEO
4. จัดวาง Headings ให้เป็นลำดับขั้น
H1 คือ HTML tag ซึ่งอาจจะต้องมีความรู้ในส่วนของการทำเว็บหรือโค้ดดิ้งหรืออย่างน้อยที่สุดก็ เช่น HTML มาบ้างครับถึงจะเข้าใจส่วนนี้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดย h1 คือแท็กที่มีค่าพลังเยอะและสำคัญสุดสำหรับ Google ในบรรดา Heading Tags (h1 - h6) ดังนั้น tag นี้ "ควรจะ" มีอันเดียวต่อหน้าเว็บ 1 หน้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้แท็กนี้สำหรับชื่อเรื่องหรือชื่อบทความ (title นั่นเอง)
h2 จะใช้เป็นหัวเรื่องหลักและ H3 จะเป็นหัวเรื่องรอง ควรวางโครงสร้างการเขียนให้เหมาะสมตามลำดับชั้นความสำคัญ (Hierarchy) ของบทความนั้น ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ของบทความที่เพื่อน ๆ กำลังอ่านอยู่
- On-Page SEO (h1)
- On-Page SEO คืออะไร?, .... (h2)
- ...(h2)
Headings (Image credit: Ahrefs)
จะเห็นว่าชื่อบทความใช้ h1 มีได้อันเดียว และควรอยู่บนสุด ส่วน subtitle ของบทความนั้นแต่ละส่วนใช้ h2 มีได้หลายอัน
5. เนื้อหาต้องครอบคลุม
เนื้อหาต้องบทความก็ต้องครอบคลุม ครบ ทุกประเด็นในหัวข้อนั้น ๆ บางหัวข้อไม่จำเป็นต้องเขียนเยอะ ยืดยาว ส่วนบางหัวข้อที่มีหัวข้อย่อยเยอะ ๆ หรือถ้าเขียนสั้น ๆ กระชับแล้วได้เนื้อหาไม่ครบ ก็ต้องเขียนให้ครอบคลุม ไม่จำเป็นต้องเขียนให้ยืดยาวทุกบทความ แต่ขอให้ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้ได้ค้นหาครับ
บทความแนะนำ: การเขียนบทความ SEO ให้ติดหน้าแรก Google
6. อย่าเขียนแบบชักแม่น้ำทั้ง 5 (เขียนไปเรื่อย)
ควรเขียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชื่อเรื่องของบทความและคีย์เวิร์ดหรือ Search Intent ที่เราโฟกัส ไม่ใช่เขียนไหลไปเรื่อย จนจับประเด็นไม่ได้ โดยผมเน้นย้ำจริง ๆ ครับว่าเนื้อหาที่เขียนต้องเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เขียนแบบครอบจักรวาล แบบต้องการดึง traffic จากหลาย ๆ คีย์เวิร์ด จนมันดูเยอะแยะไปหมดมารวมไว้ในบทความเดียว เพื่อให้คนค้นเจอหลาย ๆ คีย์เวิร์ด แต่สุดท้ายพอคนเปิดมาอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยตรงประเด็น ในที่สุดก็กดออกจากเว็บเราไปอยู่ดี แถมพวกเขาเหล่านั้นอาจจะจดจำภาพที่ไม่ดีไปแล้วเรียบร้อย (พูดง่าย ๆ คือน้ำเยอะเกินไป)
คำแนะนำ: 1 หน้าเว็บควรโฟกัสแค่ 1 คีย์เวิร์ดหลัก (Main Keyword)
7. อย่าลืมทำ Internal Linking
การทำ Internal Links (ลิงก์ภายในเว็บ) เพื่อเชื่อมไปยังบทความหรือหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องในเว็บของเรา จะทำให้เป็นการส่งพลังของลิงก์ให้แก่กันไปมาภายในเว็บ ทำให้ผู้อ่านคลิกไปเพื่ออ่านบทความหรือหน้าเว็บเพจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ Google ทำการค้นเจอ เชื่อมโยง หรือ index หน้าเว็บอื่น ๆ ของเราได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นในบทความนี้เพื่อน ๆ คงสังเกตและเห็นได้ว่าผมได้มีการแทรกลิงก์ไปที่หน้าเว็บอื่น ๆ ภายในเว็บไซต์ contentmastery.io นี้ เพื่อที่จะให้ผู้อ่านได้คลิกไปอ่านรายละเอียดหรือทบทวนเพิ่มเติมสำหรับเนื้อหานั้น ๆ
จากตัวอย่างภาพด้านล่างคือส่วนของ Footer นี่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Internal Link เราสามารถใส่คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องสำหรับแต่ละหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นและกดแล้วลิงก์ไปที่หน้าเว็บเพจนั้น ๆ ทันที ลดการคลิกเข้าไปหลายชั้น กว่าจะเจอหน้าเว็บที่ต้องการ ซึ่งสามารถสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีต่อผู้ใช้ได้
Footer ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Internal Link (ตัวอย่าง footer ของ Semrush)
Breadcrumb ก็เป็นอีกส่วนที่ทำ Internal Link ได้ เหมือนตัวอย่าง Breadcrumb ของบทความนี้ที่เพื่อน ๆ กำลังอ่านอยู่นั่นเองครับ
ทำ Internal Link บน Breadcrumb
นอกจากเป็นการแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น การทำ Internal Link ยังส่งผลให้ผู้อ่านใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์ของเรามากยิ่งขึ้น (Time on Site) เป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อ Google ว่าผู้ใช้ชอบเนื้อหาเว็บเรานะ เว็บเรามีคุณภาพผู้ใช้จึงใช้เวลาอยู่กับเว็บเรานาน เป็นต้น
8. Image Optimization
รูปภาพควรถูก compressed (บีบอัด) ให้มีขนาดไฟล์ที่เล็กเท่าที่จะทำได้ เพราะเว็บจะได้ไม่โหลดช้า เนื่องจากไฟล์ภาพใหญ่เกินไป โดยมีอีกหนึ่งวิธีที่เป็นที่นิยมคือ "Lazy Loading" (แต่ต้องทำเฉพาะรูปภาพที่อยู่ล่าง ๆ ของหน้าเว็บเพจด้วยนะครับ)
<img src="image.jpg" loading="lazy">
และรวมไปถึงฟอร์แมตรูปภาพที่ Google เองได้แนะนำ คือ WebP
ซึ่งทาง Google บอกว่า
"WebP typically achieves an average of 30% more compression than JPEG and JPEG 2000, without loss of image quality"
และอีกคำแนะนำคือรูปภาพควรมีคีย์เวิร์ดหรือคำที่สื่อความหมายใน alt แท็ก ซึ่งเป็น HTML tag ที่เป็นแอตทริบิวต์ของรูปภาพ
ตัวอย่าง alt attribute ในแท็กรูปภาพ (img)
<img src="image.jpg" loading="lazy" alt="on_page_seo">
ส่วนนี้เราจะเห็นได้ใน Google พอเราเสิร์ชและเลือกไปที่หัวข้อ Image จะเจอภาพต่าง ๆ ซึ่งแท็ก alt นี่แหละจะเป็นตัวช่วยดันให้ภาพในบทความหรือเว็บของเราไปปรากฏในหน้า Google Search (image) และพอคลิกที่ภาพ ก็จะลิงก์มาที่หน้าเว็บเรา ช่วยเพิ่มทราฟฟิกได้อีกทาง
9. Keyword Density
Keyword Density คือ ความหนาแน่นของคีย์เวิร์ดในหน้าเว็บเพจหรือบทความของเรา อันนี้ก็มีผลต่อ SEO อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ เพราะมันจะช่วยให้กูเกิลเข้าใจมากขึ้นว่า เรากำลังโฟกัสคีย์ไหนสำหรับหน้านี้
สมมติว่าเรากำลังเขียนบทความเรื่อง "Content Marketing" ที่เราได้ทำ keyword research มาแล้ว ถ้าบทความเรามีคำทั้งหมด 1,000 คำในบทความนี้ ควรมีคีย์เวิร์ดนี้อยู่ในบทความนี้ประมาณ 1 - 2% ก็จะได้ประมาณ 10 - 20 คำโดยประมาณ และไม่ควรอัดกันอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ควรกระจายไปให้ทั่วทุกส่วนของบทความ
ไม่แนะนำให้อัดคีย์เวิร์ดเยอะจนเกินไป เพราะ Google จะมองว่าเรากำลังทำ Keyword Spamming หรือ Keyword Stuffing อยู่ แทนที่จะเป็นผลดี แต่กลับกลายเป็นว่าโดน Google ลงโทษ (อีกแล้ว) ซะงั้น
การทำ Keyword Stuffing หรืออัดคีย์เวิร์ดเยอะเกินไป (ตัวอย่างที่ไม่แนะนำ)
10. ติดอันดับง่ายขึ้นด้วยการใช้ "คือ" หรือ "คืออะไร"
นี่คือเทคนิคที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครบอกครับ เพราะว่าอันนี้คือมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้นการเขียนบทความควรมีการอธิบายว่าสิ่งนี้มันคืออะไร ตัวอย่างเช่น สมมติว่าผมกำลังจะเขียนบทความเรื่อง Facebook Ads ผมก็จะเริ่มเขียนในส่วนของเนื้อหาโดยเริ่มจากคำว่า Facebook Ads คืออะไร? (กำหนดเป็นหัวข้อหลักในทั้ง Meta Title และเพิ่มใน h2 tag) จากนั้นก็ตามด้วยการอธิบาย "Facebook Ads คือ ......"
ตัวอย่างการค้นหาคำว่า "Domain Name คือ" ในหน้า SERP จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่เป็นหน้าเว็บที่มีคำว่า "คือ" ลงท้ายด้วยทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามันคือคีย์เวิร์ดที่เป็นคำถามยอดนิยมนั่นเองของคนไทย "คือ หรือ คืออะไร" ทำนองนี้ ถ้าเป็นชาวฝรั่งมังค่าก็มักจะค้นหาว่า "what is ..."
(เพิ่มมาให้อีก 2)
11. เขียนให้เป็นธรรมชาติ
หลายคนอาจจะเขียนเองหรือแม้แต่ใช้ AI ช่วยในการเขียน เช่น ChatGPT, Bard, etc เพราะว่ามันเขียนได้ง่ายและสะดวกมาก ๆ ใช่ไหมครับ ? จนลืมปรับแต่งให้มันดูเป็นธรรมชาติ เช่น มีคำว่า "คุณ" อะไรแบบนี้เยอะเกินไป ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ engage กับผู้อ่านเลย (ผู้อ่านส่วนใหญ่ฉลาดครับ รู้ว่าอันไหนใช้ AI อันไหนเขียนเอง) แนะนำเป็นไปได้ควรเล่าเรื่องคล้าย ๆ ว่าเรากำลังเล่าอะไรบางอย่างให้เพื่อนฟัง เพราะสมัยนี้เน้นความเรียลกันแล้วครับ (ยกเว้นพวกงานวารสารวิชาการหรืองานเขียนที่ต้องการความเป็นทางการหน่อย อันนี้ก็เป็นข้อยกเว้น)
12. โฟกัสที่คุณค่าแก่ผู้อ่าน
ให้นึกถึง "คุณค่า" ที่จะมอบให้คนอ่านหรือคนเสิร์ชก่อน ส่วน "SEO" มันจะตามมาเป็น reward (รางวัล) ให้เราแบบงาม ๆ ในภายหลัง และเว็บเราจะอยู่ยาว ๆ และนั่งใจคนอ่านได้ไปอีกนานแสนนาน
ดังนั้นลองถามตัวเองครับว่า เราทำคอนเทนต์หรือสร้างเนื้อหาหรือบทความนี้ขึ้นมาทำไม คนอ่านเมื่ออ่านแล้วได้อะไร?
สรุป
On Page เป็นปัจจัยภายในในการทำ SEO ที่เราสามารถควบคุมได้โดยตรง หลัก ๆ คือการเขียน ปรับคอนเทนต์ ปรับ title, description, keyword, headings กำหนด URL slug ฯลฯ เป็นต้น
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อย และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการเขียนนะครับ แล้วพบกันในบทเรียนถัดไปครับ
คำถามที่พบบ่อย
พร้อมอัพสกิล SEO เต็มรูปแบบ?
เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ลดระยะเวลาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง กับคอร์สเรียน SEO + Web เข้าใจ SEO ในทุกมิติ เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของเว็บ สามารถวิเคราะห์ performance ของเว็บได้ ทำให้วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพและ traffic ของเว็บได้ กับคลาสเรียนสำหรับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ เรียนกับ Son contentmastery.io ผู้ก่อตั้ง Content Mastery